องค์การบริหารส่วนตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น : www.tambonbuayai.go.th

 
 
สภาพทางเศรษฐกิจ

สภาพทางเศรษฐกิจ

1.  การถือครองที่ดิน

เกษตรกรในตำบลบัวใหญ่มีการถือครองที่ดินเพื่อทำการเกษตรเฉลี่ย  14  ไร่ /ครอบครัวกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน  ส่วนใหญ่ครอบครัวหลักจะมีสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน  โดยมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนด  นส  3    และ  สปก 401  สปก  4 - 98  และอีกบางส่วนที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด ๆ  เช่น  บ้านดงเย็น  หมู่ที่  12  ส่วนใหญ่ครอบครัวขยายมักจะไม่มีสิทธิ์ในที่ดินเพราะครอบครัวหลักยังไม่มีการแบ่งโอนกรรมสิทธิ์ให้  แต่ให้สิทธิ์ทำกินด้วยวาจา 

2.  ขนาดของครัวเรือนและแรงงาน

ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนขนาดกลางถึงเล็ก  แต่ระบบเครือญาติยังมีผล ทำให้ครัวเรือนแต่ละครัวเรือนในกลุ่มเครือญาติมีกิจกรรมบางส่วนที่ทำร่วมกัน  เช่น  ทำนาร่วมกัน  และค่อยแบ่งผลผลิตกันในหนึ่งครัวเรือนจะประกอบด้วย  พ่อ - แม่  ลูก  เป็นส่วนใหญ่  ครัวเรือนลักษณะหนึ่งจะมีสมาชิกประมาณ  3-5  คน  และครัวเรือนอีกลักษณะหนึ่งคือ  มี  พ่อ  แม่  ปู่ย่า  ตายายอยู่ด้วยกัน  ซึ่งเป็นส่วนน้อยของครัวเรือนทั้งหมด  จะมีสมาชิกของครัวเรือนประมาณ  510  คนต่อครัวเรือนการใช้แรงงานภาคเกษตรจะมีแรงงานประจำประมาณ  2  คน /  ครัวเรือน  อีกส่วนหนึ่งจะอยู่ในภาคการศึกษา และไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัดและต่างประเทศ  ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะมีอายุอยู่ระหว่าง  18 40  ปี  ส่วนแรงงานประจำในภาคเกษตร  จะมีอายุประมาณ  40  ปี  ขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่

3.  การประกอบอาชีพ

          -  อาชีพหลัก     ทำการเกษตร  ทำนา,  ทำไร่,  เลี้ยงสัตว์

          -  อาชีพเสริม    รับจ้าง  ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร

 

หน่วยธุรกิจในตำบล

          -  ปั้มหลอด                                               จำนวน      2           แห่ง

          -  ปั้มน้ำมัน                                                 จำนวน      5         แห่ง

          -  โรงสีขนาดเล็ก                                           จำนวน      8         แห่ง

          -  ร้านจำหน่ายวัสดุ-  อุปกรณ์การก่อสร้าง              จำนวน      3          แห่ง

          -  ร้านค้า                                                   จำนวน      60       แห่ง

          -  ร้านซ่อมรถยนต์  -  รถจักรยานยนต์                  จำนวน      6          แห่ง

          -  ร้นเสริมสวย                                           จำนวน      10 แห่ง

ขนบธรรมเนียมประเพณี

          -  วิถีชีวิตชาวบ้าน จะอยู่ร่วมกันเหมือนเครือญาติ พึ่งพาอาศัยกันวิถีชีวิตจะเกี่ยวข้องกับศาสนา  ทั้งในด้านจริยธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี  ทุกครัวเรือนจะรู้จักสนิทสนมกันเป็นอย่างดีวัดจะเป็นแหล่งรวมกันทำกิจกรรมของคนในหมู่บ้านวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชุมชนอื่นทั่วไปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นเอกลักษณ์คือ  ประเพณีและวัฒนธรรมที่ผูกพันกับศาสนาอย่างลึกซึ้ง  มีความเชื่อเกี่ยวกับผีสาง  เทวดา  และสิ่งศักดิ์ว่า  จะดลบันดาลให้อยู่เย็นเป็นสุขลูกหลานซึ่งอยู่ในวัยทำงานและวัยหนุ่มสาวที่ไม่อยู่หรือไปทำงานต่างถิ่น  จะพากันกับมาเยี่ยมบ้านเมื่อถึงเทศกาลสำคัญเช่นวันขึ้นปีใหม่วันสงกรานต์ คนเหล่านี้จะนำเอาวัฒนธรรมใหม่ ๆ  เข้ามาในหมู่บ้าน  ทำให้วัฒนธรรมเก่าที่ควรอนุรักษ์ตกเป็นภาระของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน  ที่พยายามช่วยกันอนุรักษ์สืบสานไว้

          -  ประเพณีส่วนใหญ่จะประพฤติปฏิบัติกันโดยยึดหลัก ฮีตสิบสอง คำว่า ฮีตคือสิ่งที่คนในชุมชนควรต้องปฏิบัติร่วมกัน  ที่สำคัญ  เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีสู่ขวัญข้าวเป็นต้น  การประกอบกิจกรรมสำคัญร่วมกันทำให้คนในหมู่บ้านมีโอกาสได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตลอดจนไถ่ถามถึงสารทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกัน  ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตแบบชนบทโดยแท้

ด้านประเพณีและวัฒนธรรม

                   ในรอบหนึ่งปี  ในหมู่บ้าน / ชุมชน  มีการทำบุญหรืองานประเพณีฮีตสิบสอง  เป็นประเพณีและความเชื่อเก่าแก่ชาวอีสานยึดมั่นมานานและยังยึดมั่งอย่างมั่นคงแม้ในปัจจุบัน   สรุปได้ดังนี้

                   1.  เดือนเจียง(เดือนอ้าย) นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรมฯชาวบ้านเลี้ยงผีแถน  และผีต่างๆ (บรรพบุรุษหรือวีรบุรุษผู้ล่วงลับ)การนิมนต์พระสงฆ์เข้ามาปริวาสกรรมหรือเข้ากรรมนั้นเป็นพิธีกรรมเพื่อให้พระภิกษุผู้กระทำผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์(มิใช่ล้างบาป) เป็นการฝึกความรู้สึกสำนึกวิจัยความผิดบกพร่องของตัว  ซึ่งตรงกันข้ามกับสังคมสมัยนี้มีแต่โพนทะนาถึงความชั่วความผิดของผู้อื่นข้างเดียว

                   2.  เดือนยี่ ทำบุญ คูนลานมีพระสวดมนต์ฉันข้าวเช้าเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ข้าวเปลือก  เมื่อพระฉันเช้าแล้วก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าว(ทำขวัญข้าวหรือสูตรขวัญข้าว)นอกจากนั้นในเดือนนี้ชาวบ้านจะต้องตระเตรียมสะสมเชื้อเพลิงหาฟืนและถ่านมาไว้ในบ้าน

3.  เดือนสาม  มื้อเพ็งทำบุญข้าวจี่ และบุญมาฆะบูชา เริ่มพิธีทำบุญเข้าจี่ในตอนเช้าโดยใช้ข้าวเหนียวปั้นหุ้มน้ำอ้อยนำไปปิ้งหรือจี่พอเกรียม แล้วชุบด้วยไข่ ลนไฟจนสุกแล้วใส่ภาชนะไปตั้งไว้ในหัวแจก(ศาลาวัด) นิมนต์พระรับศีลแล้วเอาข้าวจี่ใส่บาตร นำถวายแด่พระสงฆ์พร้อมด้วยอาหารอื่นเมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการแสดงพระธรรมเทศนา ข้าวจี่ที่เหลือจากพระฉันแล้วแบ่งกันรับประทานถือว่าจะมีโชคดี

4.  เดือนสี่  บุญพระเวสฟังเทศมหาชาติ มูลเหตุเนื่องมาจากพระคัมภีร์มาลัยหมื่น  และมาลัยแสนว่า ถ้าผู้ใดปรารถนาที่จะได้พบพระศรีอริยะเมตไตย์ หรือเข้าถึงศาสนาพระพุทธองค์แล้ว จงอย่าฆ่าบิดามารดา สมณพราหมณาจารย์ อย่ายุยงให้พระสงฆ์แตกสามัคคีกันกับให้อุตสาห์ฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง พระมหาเวสสันดรชาดกให้จบสิ้นภายในวันเดียวเป็นต้น  ในงานนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระซึ่งเรียกว่า กันฑ์หลอน  หรือถ้าเจาะจงจะถวายเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มาก็เรียกว่า  กัณฑ์จอบ  เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อน

5.  เดือนห้า  ทำบุญขึ้นปีใหม่ไทยหรือตรุษสงกรานต์สรงน้ำพระพุทธรูป ไปเก็บดอกไม้ป่ามาบูชาพระในระหว่างบุญนี้ทุกคนจะหยุดงานธุรกิจประจำวัน   โดยเฉพาะมีวันสำคัญดังนี้

          - วันสังขารล่วง เป็นแรกของงานจะนำพระพุทธรูปลงมาทำความสะอาดและตั้งไว้    สถานที่อันสมควรแล้วพากันสรงพระด้วยน้ำหอม

                             - วันสังขารเน่า เป็นวันที่สองของงาน พากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดามารดา  และญาติที่ล่วงลับไปแล้ว

                             - วันสังขารขึ้น เป็นวันที่สามของงาน ทำบุญตักบาตรถวายภัตราหารแด่พระ เณร  แล้วทำการคารวะแก่บิดามารดาและคนแก่   ส่งท้ายด้วยมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ  แล้วใช้น้ำที่เหลือจากการรดน้ำให้ผู้ใหญ่นำมารดน้ำให้แก่ผู้มาร่วมงานภายหลังจึงแผลงมาเป็นวิ่งไล่สาดน้ำทาแป้ง

                   6.  เดือนหกทำบุญบั้งไฟและวันวิสาขบูชาการทำบุญบั้งไฟเพื่อขอฝนเป็นงานสำคัญก่อนลงมือทำนา  ส่วนการทำบุญวันวิสาขบูชากลางวันมีการเทศน์กลางคืนมีการเวียนเทียน

7.  เดือนเจ็ดทำบุญซำฮะล้างหรือบุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมืองปู่ตาผีเมืองผีตาแฮกเป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ

                   8.  เดือนแปดทำบุญเข้าพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรง มีการทำบุญตักบาตร  ฟังธรรมเทศนาและถวายเทียนเข้าพรรษา

                   9.  เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ   โดยการจัดหาอาหาร  หมากพลู  เหล้า บุหรี่  ไปวางไว้ใต้ต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่ง   แล้วเชิญวิญญาณของญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารไป

                   10.  เดือนสิบ ทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก พิธีนี้กระทำกันในวันขึ้น15 คำเดือน 10 ชาวบ้านได้นำข้าวต้ม ขนมเลี้ยงดูแจกจ่ายกันในตอนเพลของวันนี้  ชาวบ้านได้นำสำรับกับข้าวและเครื่องไทยทานเพื่อนำเข้าไปถวายพระภิกษุในวัด   เขียนสลากบอกชื่อเจ้าของสำรับกับข้าวแล้วนำลงใสบาตร   พร้อมกับนิมนต์ให้พระภิกษุตลอดจนสามเณรเป็นผู้จับสลาก  พระภิกษุองค์ใดถูกสลากของใครก็จะได้รับข้าวและเครื่องไทยทานของผู้นั้น

                   11.  เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา พระสงฆ์จะแสดงอาบัติทำการปวารณา คือ  เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้   พอตกกลางคืนมีการจุดประทีปโคมไฟแขวนไว้ตามต้นไม้หรือริมรั้ว

                   12.  เดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน ชาวบ้านได้พากันทำบุญกฐินหลังออกพรรษา  ซึ่งถือตามคตินิยมในทางพระพุทธศาสนา นอกจากบุญกฐินแล้วก็แล้วก็ยังมีบุญทอดผ้าป่า โดยเฉพาะบุญทอดผ้าป่านี้ไม่ได้กำหนดตามกาลและเวลา คือ เจ้าของหรือเจ้าภาพกำหนดทำพิธีเมื่อไรก็ได้